สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๕  ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ศาลจะพิพากษาให้ทำให้ทรัพย์สินนั้นใช้ไม่ได้หรือทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้

 

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2546 เดิมบริษัทเงินทุน ท. เป็นเจ้าของรถยนต์ให้จำเลยเช่าซื้อเมื่อวันที่ 1 เมษายน2540 จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 และผู้ร้องซื้อทรัพย์สินประเภทสัญญาเช่าซื้อจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในนามและแทนบริษัทเงินทุน ท. เมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2541 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 จะบัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป"แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์ ก็ยังไม่ทำให้รถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ทันที เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด บริษัทเงินทุน ท. ย่อมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องได้โดยชอบและไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้ภายในกำหนด 1 ปี แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ประกอบกับพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 25 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติการขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบไว้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2545 ทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดที่จะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 นั้น หมายถึงทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเก็บรักษาไว้โดยไม่มีการฟ้องร้องต่อศาล หรือหากมีการฟ้องร้องก็ต้องเป็นกรณีที่ศาลมิได้พิพากษาให้ริบหรือสั่งคืนทรัพย์สินของกลางให้แก่เจ้าของ ทั้งนี้เพราะมาตรา 1327 อยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 และ 36 บัญญัติเรื่องนี้ว่า ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อการเรียกเอาทรัพย์สินตามมาตรา 1327 วรรคหนึ่ง กับการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทรัพย์สินที่ถูกริบคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มีหลักเกณฑ์และวิธีการแตกต่างกัน หลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1327 วรรคหนึ่ง จึงมิใช่บทขยายระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะเพิ่งทราบว่าทรัพย์สินของตนถูกศาลพิพากษาให้ริบหลังจากคดีถึงที่สุดแล้ว ระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางก็ไม่ผ่อนเวลาออกไปเป็น 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3829/2542 ทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบจะตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่เมื่อมีการฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในข้อดังกล่าวและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา รถจักรยานยนต์ของกลางดังกล่าว จึงยังหาตกเป็นของแผ่นดินไม่ ดังนั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์ของกลางย่อมโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ร้องได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางที่แท้จริง และมีสิทธิยื่นคำร้อง ขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วภายในกำหนด 1 ปีได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2523 ของกลางที่ศาลสั่งริบเป็นเครื่องรับวิทยุและเสาอากาศเครื่องรับวิทยุสำหรับใช้ติดกับรถยนต์ซึ่งเป็นของต่างประเทศที่ยังไม่เสียภาษีศุลกากรจำเลยรับจ้างขนของดังกล่าวโดยรู้ว่าเป็นของต่างประเทศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรเท่านั้นของกลางที่ศาลสั่งริบจึงเป็นทรัพย์ที่ยังไม่ควรทำลายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35

 

บทความที่น่าสนใจ

- วิธีการประหารนักโทษต้องโทษประหาร

- คำว่า ประมาท ตามกฎหมายมีความหมายอย่างไร

-ทำบันทึกข้อตกลงหย่ากันแล้วอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า

- ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นสินสอด

- ไม่ได้จดทะเบียนสมรสบิดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่

- สัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสไม่ได้ยินยอมด้วย ผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร

-ตกลงยกทรัพย์ให้เพื่อยุติกรณีชู้สาวเป็นสินสมรสหรือไม่